วันศุกร์ที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2555

รู้จักกับ SOPA และ PIPA กฎหมายที่วงการออนไลน์ต่อต้าน!

ขอขอบคุณเนื้อหาจาก บทความเรื่อง “รู้จักกับ SOPA กันซักหน่อยไหม?“   โดย คุณคงเดช กี่สุขพันธ์ (@kafaak) จากบล๊อก นานาสาระกับนายกาฝาก ค่ะ

SOPA กับ PIPA นี่คืออะไร?

เดือดร้อนกันไปทั่วบ้านทั่วเมือง แต่หลายๆ คนอาจจยังงงว่า แล้วเจ้า SOPA นี่คืออะไร  … SOPA นั้นมาจาก Stop Online Piracy Act หรือ พ.ร.บ. หยุดการละเมิดลิขสิทธิ์ออนไลน์ (ถ้าแปลเป็นไทยแบบหยาบๆ อ่ะนะ)
เจ้านี่คือ พ.ร.บ. ที่เหล่าผู้ประกอบการธุรกิจสื่อในสหรัฐพยายามเข็นให้ออกมาให้ได้ โดยกลุ่มผู้สนับสนุนก็มี MPAA (Motion Picture Association of America), บรรดาพวกอุตสาหกรรมเพลง และที่สำคัญที่สุดก็คือ หอการค้าสหรัฐ (U.S. Chamber of Commerce) ด้วย … เหตุผลคือ ธุรกิจพวกนี้สูญเสียรายได้จากการถูกละเมิดลิขสิทธิ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์หรือเพลง เลยทำให้ต้องล็อบบี้กันอย่างเต็มพิกัด
ข้อมูลจาก Politico.com ชี้ให้เห็นว่ากลุ่มทุกทุนอย่างแรงในการสนับสนุนเงินทุนเพื่อล็อบบี่ให้ พ.ร.บ. นี้แจ้งเกิดได้ โดยในปี พ.ศ. 2553 จัดเต็มไป 185.5 ล้านเหรียญสหรัฐเลยทีเดียว และปี พ.ศ. 2554 นี่ก็จัดไปอีก 94 ล้านเหรียญสหรัฐ น้อยลง แต่ถ้าเทียบกับงบล็อบบี้ฝั่งบริษัทด้านเทคโนโลยีแล้ว ทิ้งกันแบบไม่ติดฝุ่นเลยทีเดียวเชียวล่ะ (ดูกราฟด้านบน)
ส่วน PIPA นั้นมาจาก Protect IP Act หรือ พ.ร.บ. คุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาครับ ซึ่งเหมือนกับเป็นลูกพี่ลูกน้องของ SOPA นี่แหละ เจ้า พ.ร.บ. นี้แรงเอาการครับ เพราะมีเนื้อหาที่บอกว่า ให้ผู้ให้บริการนั้นดำเนินการลบหรือระงับการเข้าถึงเว็บไซต์ที่ละเมิด พ.ร.บ.
ความแตกต่างของ SOPA กับ PIPA ก็คือ ในขณะที่ PIPA นั้นจะมีเป้าหมายไปที่ตัวผู้ให้บริการ DNS, พวกบริษัทไฟแนนซ์ และพวกเครือข่ายโฆษณาต่างๆ ไม่ได้เกี่ยวกับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต แต่ว่า SOPA นั้นกินวงกว้างกว่า โดยให้อัยการสหรัฐสามารถขอให้ศาลังคับคดี เพื่อให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (Internet Service Provider หรือ ISP) บล็อกไม่ให้เข้าถึงเว็บไซต์นั้นๆ ได้ แถมต้องทำโดยไวด้วย แบบว่าเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ หรือภายใน 5 วันหลังได้คำสั่งศาล หรือภายในเวลาที่ศาลกำหนด ซึ่งตรงนี้ระบุไว้ในมาตราที่ 102
A service provider shall take technically feasible and reasonable measures designed to prevent access by its subscribers located within the United States to the foreign infringing site (or portion thereof) that is subject to the order… Such actions shall be taken as expeditiously as possible, but in any case within five days after being served with a copy of the order, or within such time as the court may order.

คำกล่าวอ้างของผู้สนับสนุน SOPA

จะเข็น พ.ร.บ. อะไรให้ออกมาได้ ก็ต้องมีเหตุผลสนับสนุนกันหน่อย ทางหอการค้าสหรัฐนั้นให้เหตุผล ซึ่งเขียนเป็นจดหมายถึงกอง บ.ก. ของหนังสือพิมพ์ The New York Times ว่า “บรรดาเว็บไซต์เถื่อนได้ขโมยนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ของอเมริกาไป และดึงดูดให้มีคนเข้าไปเยี่ยมชมเว็บไซต์เหล่านั้นมากกว่า 5 หมื่น 3 พันล้านครั้งต่อปี และส่งผลกระทบต่อแรงงานสหรัฐมากกว่า 19 ล้านตำแหน่ง” 2 … แต่ถ้าถามแวดวงผู้ต่อต้าน SOPA คงจะได้คำตอบว่า เหตุผลจริงๆ ก็คือรายได้ที่ลดลงนั่นแล ข้อมูลจาก IFPI (Internation Federation of the Phonotgrapic Industry) เผยว่า ในขณะที่ตลาดเพลงดิจิตอลเติบโตในช่วงปี พ.ศ. 2547 – 2553 แต่ทว่ารายได้ของอุตสาหกรรมนี้กลับลดลง 31% อันเป็นผลมาจากการละเมิดลิขสิทธิ์นั่นเอง 3

ความคลุมเครือของ SOPA

การออกโรงคัดค้าน SOPA อย่างสุดฤทธิ์ของชุนชนผู้ใช้อินเทอร์เน็ต และบริษัทอินเทอร์เน็ตยักษ์ใหญ่ต่างๆ ส่วนหนึ่งก็มาจากความเชื่อในอิสระเสรีบนโลกอินเทอร์เน็ต ที่ว่าไม่ควรจะมีอะไรมากีดขวางสิทธิเสรีภาพของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต อีกส่วนหนึ่งก็มาจากความรู้สึกว่าจะถูกตรวจสอบอยู่ตลอดเวลา เพราะศาลสามารถมีคำสั่งให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตไปตรวจสอบทราฟฟิค หรือการวิ่งของข้อมูลของลูกค้า แล้วทำการบล็อกเว็บไซต์ที่ต้องสงสัยว่าจะละเมิดลิขสิทธิ์ได้ … อันนี้เข้าข่ายประเด็น Sniffer ที่เคยเป็นประเด็นเผ็ดร้อนในประเทศไทย เมื่อราๆ ต้นปี พ.ศ. 2553 4 มาแล้ว
แต่อีกส่วนหนึ่ง ก็มาจากความคลุมเครือของ พ.ร.บ. นี้นี่แหละครับ เพราะคำว่าบล็อกเว็บเนี่ย มันมีได้หลายระดับ ตั้งแต่บล็อกทั้งหมดเลย หรือบล็อกเฉพาะบางส่วนของเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาละเมิดลิขสิทธิ์
ที่สำคัญคือ อุตส่าห์ลงทุนบล็อกขนาดนี้แล้ว มันจะแก้ปัญหาให้หมดจดไปได้จริงหรือไม่ ก็ยังเป็นข้อกังขาอยู่ เพราะว่าแม้จะบล็อก URL ของเว็บได้ เว็บไซต์พวกนี้ก็สามารถจดทะเบียนโดเมนใหม่ได้ในพริบตา และภายในไม่เกิน 24 ชั่วโมงก็พร้อมใช้งานแน่นอน หรือจะบล็อก IP Address ไปเลย ก็ไม่ได้ผลชะงักเท่าใดนัก เพราะของพวกนี้ก็สามารถขอใหม่ได้เช่นเดียวกัน และความพยายามในการทำแบบนี้ก็ส่งผลให้ IP Address นั้นๆ ใช้การไม่ได้ เป็นการสิ้นเปลืองไปอีก

ใครที่ร่วมต่อต้าน SOPA บ้าง?

บอกเลยว่าเยอะครับ เพราะว่าชุมชนออนไลน์เขาไม่ชอบให้ใครมาปิดกั้นเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลกัน อยู่แล้ว อย่าง Google, Facebook, Twitter, Zynga, eBay, Mozilla, Yahoo!, AOL และ LinkedIn ต่างก็เขียนจดหมายถึงพวก ส.ว. และ ส.ส. ของสหรัฐแย้งเรื่อง พ.ร.บ. นี้
แต่รายชื่อเต็มๆ อัพเดตล่าสุด แนะนำว่าให้ดูจากเว็บ net-coalition.com  จะเห็นว่ามีทั้งบริษัทห้างร้าน ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ กลุ่มองค์กร ภาคธุรกิจ เว็บข่าวเว็บบริการ องค์กรเพื่อสิทธิมนุษยชน บุคคลต่างๆ มากมายเลยทีเดียว
ก็ต้องรอดูกันต่อไปนะครับว่า SOPA จะไปรอดหรือไม่อย่างไร
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
1. http://www.politico.com/news/stories/1111/68448.html
2. http://news.cnet.com/8301-31921_3-57329001-281/how-sopa-would-affect-you-faq/
3. http://www.ifpi.org/content/library/DMR2011.pdf
4. http://news.hunsa.com/detail.php?id=20892

อ่านเพิ่มเติมที่
บทความจากคุณ @kafaak 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น